เปิดไทม์ไลน์ มาตรการรถยนต์อีวี 2 ระยะ รัฐอุดหนุนสูงสุด 1.5 แสนบาท ถึงปี’68

 

สรรพสามิต เปิดไทม์ไลน์มาตรการสนับสนุนรถยนต์อีวี 2 ระยะ ระยะแรกช่วงเปิดให้ผู้ผลิตนำเข้าเพื่อทดลองตลาด ส่วนระยะกลางต้องเริ่มผลิตภายในประเทศ รัฐอุดหนุนสูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคัน ตลอด 4 ปี ถึงปี 2568

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสรรพสามิต ได้เผยแพร่มาตรการการสนับสนุนมุ่งเน้นให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศในระยะยาว โดยมีการแบ่งช่วงเวลาให้ผู้ผลิตสร้างโรงงาน

เริ่มจาก ระยะแรก ปี 2565-2566 จะอนุญาตให้นำเข้ารถ CBU/CKD เพื่อสนับสนุนการทดลองตลาด BEV ภายในประเทศ

ทั้งนี้ รถยนต์ที่นำเข้าแบบ CBU ที่ได้รับสิทธิ จะต้องมีราคาขายปลีกแนะนำ :

-รถอีวีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้ลดอากรสูงสุด 40% ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% ซึ่งรถอีวีที่มีกำลังมอเตอร์ไฟฟ้า 10-30 กิโลวัตต์ จะได้รับเงินอุดหนุนคันละ 70,000 บาท ส่วนรถที่มีกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน

-รถอีวีที่ราคา 2-7 ล้านบาท จะได้ลดอากรสูงสุด 20% (กำลังมอเตอร์ไฟฟ้าตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ขึ้นไป)

ส่วนกรณีรถยนต์กระบะ ต้องผลิตในประเทศเท่านั้นจึงจะได้รับเงินอุดหนุน ซึ่งรัฐจะอุดหนุนรถยนต์กระบะอีวีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยจะลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 0% และให้เงินอุดหนุนคันละ 150,000 บาท (กำลังมอเตอร์ไฟฟ้าตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ขึ้นไป)

ขณะที่ในระยะกลาง ตั้งแต่ปี 2567-2568 จะอนุญาตให้นำเข้า CKD เพื่อส่งเสริมการผลิต BEV และชิ้นส่วนสำคัญภายในประเทศ

โดยรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ที่ได้รับสิทธิ จะต้องมีราคาขายปลีกแนะนำ :
-รถอีวีที่ราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท อากรขาเข้าชิ้นส่วน BEV 0% ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% จะได้รับเงินอุดหนุนคันละ 70,000 บาท ส่วนรถที่มีกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน

-รถอีวีที่ราคา 2-7 ล้านบาท อากรขาเข้าชิ้นส่วน BEV จะเป็น 0% (กำลังมอเตอร์ไฟฟ้าตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ขึ้นไป)

ส่วนรถยนต์กระบะต้องผลิตในประเทศเท่านั้น โดยราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท อากรขาเข้าชิ้นส่วน BEV จะเป็น 0% ภาษีสรรพสามิต 0% และเงินอุดหนุนคันละ 150,000 บาท (กำลังมอเตอร์ไฟฟ้าตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ขึ้นไป)

ทั้งนี้ เงื่อนไขแบตเตอรี่ ผู้ขอรับสิทธิต้องผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 โดยสามารถเลือกได้หลายระดับ (Pack, Module, Cell) โดยในแต่ละระดับต้องมีการใช้ชิ้นส่วนสำคัญภายในประเทศ

ขณะที่เงื่อนไขการผลิตชดเชย ผู้ขอรับสิทธิและนำเข้ารถ CBU ในปี 2565-2566 ต้องผลิต CKD เพื่อชดเชยการนำเข้า CBU 1 : 1 เท่าภายในปี 2567 หรือผลิต CKD เพื่อชดเชยการนำเข้า CBU 1 : 1.5 เท่า ภายในปี 2568

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance

admin

Related Posts