ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับกรอบคาดการณ์จีดีพีปี 65 เหลือขยายตัว 2.5% จาก 3.7% เหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบ “ราคาน้ำมัน-เงินเฟ้อ-ต้นทุนการเงิน” เผย ภาคธุรกิจแบกภาระค่าวัตถุดิบ-พลังงานเพิ่ม 8 หมื่นล้านบาท
วันที่ 25 มีนาคม 2565 นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้มีการทบทวนประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2565 จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่เป็นปัจจัยความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อแรงกดดันราคาน้ำมัน และอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจากเดิม นอกเหนือจากปัจจัยการระบาดของโควิด-19 และปัญหาคอขวดของเซมิคอนดักต์เตอร์ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว
วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนฉุดจีดีพีไทยโต 2.5%
โดยได้แบ่งผลกระทบออกเป็น 2 สมมติฐาน คือ กรณีฐาน (Base case) การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครนไม่สามารถตกลงได้ และการสู้รบยืดเยื้อ โดยมาตรการคว่ำบาตร (แซงก์ชั่น) ยังคงดำเนินต่อเนื่องตลอดทั้งปี ส่งผลต่อราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แม้ว่ารัสเซียจะเป็นผู้ผลิตอันดับ 3 ของโลก แต่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 1 ของโลก ทำให้อุปทานน้ำมันหายไปจากโลก 1.5-2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งกรณีนี้คาดว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น 4.5% โดยจีดีพีจะขยายตัวได้ 2.5%
และกรณีดี (Best case) หากรัสเซียและยูเครนสามารถมีการเจรจาตกลงกันได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ จะเห็นราคาน้ำมันจะย่อตัวลงเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงเหลือ 3.8% โดยจีดีพีขยายตัว 2.9% โดยภาพรวมจีดีพีปรับลดลงจากประมาณการรอบเดือนธ.ค.64 ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ระดับ 3.7% อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.1%
ทั้งนี้ จากสถานการณ์รัสเซียและยูเครนจะส่งผลกระทบต่อไทยผ่าน 3 ช่องทาง คือ อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว โดยในส่วนของภาคการส่งออกจะย่อตัวลงจากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 4.3% กรณีดีเหลือ 3.7% และกรณีพื้นฐาน 3.4% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อนที่ขยายตัว 17.1%
ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อเร่งขึ้น และการส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปลายปีจะอยู่ที่ 1.75-2% ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการทบทวนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (RP) เป็นรอบๆ ในการประชุม แต่คาดว่าจะยืนดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี อาจจะต้องติดตามกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ที่จะเพิ่มแรงกดดันในกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปี
“จากภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด เรามองว่ากนง.จะยืนดอกเบี้ยไปถึงปลายปี แต่จะมีการทบทวนตัวเลขทุกรอบกรประชุม เพราะมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ส่วนมาตรการภาครัฐที่ออกมา 10 มาตรการ จะเห็นว่ามาตรการส่วนใหญ่เป็นการลดภาระค่าด้านราคาพลังงานของครัวเรือนและกลุ่มเปราะบาง วินจักรยานยนต์ เพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพในการดำรงชีวิต ไม่ใช่เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
สงครามรัสเซีย-ยูเครนดันต้นทุนพุ่ง 8 หมื่นล้านบาท
สำหรับผลกระทบต่อภาคธุรกิจ นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากราคาพลังงานและวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้นจากกรณีรัสเซียและยูเครน คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตไม่น้อยกว่า 8 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบจะแตกต่างกันตามสัดส่วนต้นทุนการใช้วัตถุดิบ ความสามารถในการปรับตัว และการส่งผ่านราคาไปยังผู้บริโภค ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักจะอยู่ในกลุ่มขนส่งและการผลิตเนื้อสัตว์
ขณะที่ภาคการบริการท่องเที่ยว มองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปียังคงอยู่ 4 ล้านคน ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยน เนื่องจากมาตรการภาครัฐพยายามสนับสนุน เช่น การเปิดประเทศ การเปิดชายแดน และการจับประเทศอื่นผ่าน Bubble เช่น อินเดียและซาอุดิอาระเบีย
ซึ่งจะมาช่วยชดเชยจำนวนักท่องเที่ยวที่หายไปของรัสเซียและยุโรป อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากรัสเซีย-ยุโรปมีการใช้จ่ายต่อหัวค่อนข้างสูง โดยคาดว่าเม็ดเงินจะหายไปประมาณ 5 หมื่นล้านบาท จากปีนี้คาดยอดใช้จ่ายมีมูลค่า 2.5 แสนล้านบาทจากกรณีไม่มีสงคราม
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในกลุ่มบริการจัดส่งอาหาร โดยราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ปรับเพิ่มขึ้น 10 บาทต่อลิตร ส่งผลกระทบต่อผู้รับจ้างส่งอาหาร (ไรเดอร์) ที่มีมากกว่า 3.5 แสนคน เบื้องต้นประเมินผลกระทบต่อต้นทุนเพิ่มขึ้นราว 900 ล้านบาท
“เร่ไม่ได้ปรับจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง เพราะเรามองว่าจากมาตรการภาครัฐที่พยายามส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยว น่าจะช่วยชดเชยจึงไม่กระทบเท่าไร แต่เม็ดเงินใช้จ่ายจะหายไป เพราะต้องยอมรับว่านักท่องเที่ยวรัสเซียจ่ายหนักมากกว่ากลุ่มอื่น”
ตลาดการเงินผันผวน เตือนธุรกิจรับต้นทุนการเงินเพิ่ม
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่าผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนต่อภาคการเงินนั้น แม้ว่ามาตรการคว่ำบาตร (แซงก์ชั่น) ทางการเงินของประเทศมหาอำนาจต่อรัสเซีย จะมีผลกระทบทางต่อภาคการค้าระหว่างรัสเซีย-ยูเครนกับไทยค่อนข้างจำกัด เพราะมีสัดส่วนเพียง 0.6%
อย่างไรก็ดี จากประเด็นความขัดแย้งได้ส่งผลต่อตลาดการเงินให้มีความผันผวนมากขึ้น ประกอบกับนโยบายการเงินของเฟดที่มีการส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ย จะมีผลต่อต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (บอนด์) อายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 0.50% ซึ่งจะกระทบต่อการกู้ยืมและการระดมทุน ซึ่งในปีนี้จะมีบอนด์ครบกำหนดอยู่ที่ราว 7.5 แสนล้านบาท ทำให้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น โดยภาคธุรกิจที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นจะกระทบมาร์จิ้นให้บางลง
ทั้งนี้ ในส่วนของลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก คงต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติมในแง่ของวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มเติมในรายที่ยังประคองคำสั่งซื้อไว้ได้ ทำให้ความต้องการสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน(Working Capital) ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก
รวมถึงประเด็นปรับโครงสร้างหนี้และคุณภาพหนี้ ส่งผลต่อสินเชื่อธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากต้นทุนน้ำมันและวัตถุดิบอาหารที่เพิ่มขึ้น โดยจะมีสัดส่วนประมาณ 4-5% ของพอร์ตสินเชื่อรวม อย่างไรกีดี ศูนย์วิจัยฯ ได้มีการทบทวนภาพรวมสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งปีนี้ขยายตัวเหลือ 4.5% ในกรณีฐาน จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 4.8%
“ภาวะตลาดการเงินตอนนี้ยังไม่สบายใจได้ แม้ว่าตลาดจะรับรู้ไปพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังคงสร้างความผันผวนให้กับตลาด โดยจะเห็นว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ภายในครึ่งปีแรกนี้ โดยกลุ่มผู้นำเข้าควรป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินด้วย”
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance