“จุรินทร์” ประเดิมส่งออกไก่ไทยไปซาอุฯ ล็อตแรกสัปดาห์หน้า ลุย Mini FTA เจาะหารายได้

เมื่อวันที่ 24 มี.ค.65 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์แถลงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์(กรอ.พณ) ครั้งที่ 1/2565 พร้อมด้วยนางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องกิติยากรณ์วรลักษณ์ ชั้น 4 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์(กรอ.พาณิชย์) มีประเด็นที่ติดตามแก้ปัญหาร่วมกัน 8 ประเด็น ประกอบด้วย ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องการถ่ายลำ เราต้องการให้เรือขนาดใหญ่ เข้ามาจอดเทียบท่าในไทยและขนสินค้าบางอย่างผ่านเขตพิเศษบริเวณท่าเรือได้ และเอาสินค้าไทยขึ้นเรือได้ เอกชนเห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับการจูงใจให้เรือเข้ามา จะได้ตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์ว่าเดือนเมษายนนี้จะได้ข้อสรุป ตนได้มอบเป็นนโยบายแล้วว่าสินค้าที่ผู้มีส่วนได้เสียไม่เห็นด้วยที่จะนำมาพักในบริเวณท่าเรือเพื่อการถ่ายลำ เช่น มันสำปะหลัง ให้เอาออกได้แต่สินค้าอื่นที่เห็นพ้องต้องกัน และควรหาข้อสรุปให้จบในเดือนเมษายน

ประเด็นที่สอง เรื่องตู้คอนเทนเนอร์มีการประเมินว่าสถานการณ์ช่วงที่ผ่านมาดีขึ้น เดิมก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เราประเมินว่ากลางปี 65 สถานการณ์ตู้คอนเทนเนอร์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่เมื่อเกิดสภาวะสงคราม ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นจะร่วมกันแก้กับประชาชนต่อไปในรูปของ กรอ.พาณิชย์

ประเด็นที่สาม การส่งออกผลไม้ไปจีน มี 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1.มาตรการเชิงรุก 17 + 1 มาตรการ ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป 2.มาตรการ 8 ข้อใหม่ หลังการประชุมร่วมเต็มรูปแบบเมื่อวานเร่งขับเคลื่อนแก้ปัญหาส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะตลาดใหญ่ที่สุดคือตลาดจีน ปัญหาใหญ่อยู่ที่ด่านทางบก เอกชนต้องการให้จีนขยายเวลาเปิดด่าน อำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้นำเข้าผลไม้จีนและผู้ส่งออกผลไม้ไทยได้รับความสะดวกร่วมกัน และให้ผู้บริโภคจีนได้รับผลไม้ที่สดใหม่ที่สุดจากเมืองไทย มอบให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและทูตพาณิชย์ ทูตเกษตรและเอกอัครราชทูตไทยช่วยเจรจากับทางการจีน

ประเด็นที่สี่ การเร่งรัดการเปิดด่านชายแดน เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดน เร่งรัดการเปิดด่าน 15 ด่าน ที่เป็นทางเป้าหมายมาเลย์ 2 ด่านเปิดแล้ว คือ ด่านตากใบและด่านบูเก๊ะตา ส่วนสปป.ลาว 9 ด่าน กัมพูชา 2 ด่าน เมียนมา 2 ด่าน กำลังเร่งดำเนินการ ปัจจัยความสำเร็จสำคัญอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย จะเป็นผู้เจรจากับเจ้าเมืองตรงข้าม แต่นโยบายรัฐบาลกับกระทรวงพาณิชย์ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการเปิดด่าน

 

ประเด็นที่ห้า การทำ Mini FTA ตั้งเป้าไว้ 11 ฉบับ ลงนามแล้ว 2 ฉบับ คือไห่หนานกับโคฟุของญี่ปุ่น ที่เหลือนัดหมายวันลงนามอีก 4 ฉบับประกอบด้วย รัฐเตลังกานาของอินเดียลงนามวันที่ 11 เมษายนนี้ และอีกฉบับกับมณฑลการซู่ของจีน ที่จะเป็นตลาดฮาลาลใหญ่ และปูซานคาดว่าลงนามได้ปลายเดือนเมษายน ตามด้วยคยองกีของเกาหลี มีการเลื่อนเนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในของเกาหลี และที่ต้องเจรจาต่อไปให้จบอีก 4 ฉบับ 1.รัฐกรณาฏกะ 2. รัฐมหาราษฏระ 3. รัฐเกรละ ของอินเดีย และ 4. เมืองเซินเจิ้นของจีน ซึ่งเอกชนเสนอเพิ่มและรับเข้าแผนแล้วคือกับมณฑลยูนนานซึ่งเป็นมณฑลใหญ่และรถไฟลาว-จีน จะไปจบที่มณฑลยูนนาน เส้นทางเชียงของ ด่านโม่ฮานก็มณฑลยูนนานเส้นทางเชียงแสน ทางเรือมณฑลกวนเหล่ยก็มณฑลยูนนาน ถ้าเราได้ทำ Mini FTA จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ

ประเด็นที่หก การค้ากับประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยสัปดาห์หน้าเราจะส่งไก่ล็อตแรกไปยังซาอุดิอาระเบียหลังติดขัดมานาน และเห็นตรงกันกับภาคเอกชนควรนำคณะเดินทางไปขายของให้ซาอุดิอาระเบีย โดยมีเป้าหมาย 3 เมือง คือ เจดดาห์ ริยาดและดัมมัม สินค้าเป้าหมาย คือ ยานยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร เสื้อผ้าสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ และตั้งใจจะฟื้น
JTC ไทย-ซาอุฯ ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งและในเวทีนั้นจะมีการเจรจาการค้าในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป

ประเด็นที่เจ็ด รถไฟลาว-จีน คาดว่าด่านเวียงจันทน์เปิดให้บริการแล้ว แต่ ด่านรถไฟโม่ฮานที่จะนำเข้าผลไม้ไทยได้ยังสร้างไม่เสร็จต้องรอประมาณกลางปีหรือเดือนมิถุนายน การส่งออกสินค้าไปจีนโดยเฉพาะผลไม้จะต้องเตรียมแผนรองรับทางเรือกับทางอากาศไว้ ซึ่งเอกชนได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว ว่าจะเพิ่มการส่งออกทางเรือกับทางอากาศอย่างไร ทั้งนี้สิ่งที่ทูตพาณิชย์ ทูตเกษตร กระทรวงการต่างประเทศต้องช่วยเจรจากับทางการจีน ช่วยให้จีนอำนวยความสะดวกให้เกิดความรวดเร็วที่ท่าเรือของจีนอย่างไร

ขณะที่สุดท้ายการค้าไทยกับอียิปต์ ตอนนี้แบงค์ชาติของอียิปต์กำหนดให้ผู้นำเข้าของอียิปต์จะต้องรับเฉพาะ Letters of Credit (L/C) ซึ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องใช้เวลาและค่าธรรมเนียม ซึ่งทูตพาณิชย์ไทยประจำอียิปต์จะเป็นผู้ประสานและเป็นศูนย์กลางในการประสานให้ผู้ส่งออกไทยได้ทราบถึงกฎระเบียบ รายละเอียดต่างๆ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพิ่มเติม และกระทรวงพาณิชย์จะมีสายด่วนและเว็บไซต์แจ้งเตือนถ้ามีปัญหาหรือกฎระเบียบใหม่เพิ่มเติม สินค้าที่ไทยส่งไปอียิปต์สำคัญ เช่น อาหารทะเลกระป๋อง รถยนต์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ซึ่งอียิปต์เป็นตลาดที่มีสัดส่วนการส่งออกของไทยในตลาดโลกที่ 0.43%

อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy

admin

Related Posts